ยูทูปเบอร์แทบจะทุกคน อยากจะมีคนติดตามมากกว่า 1,000 คน
เพราะว่าจะได้ผ่านกฎสร้างรายได้ยูทูป หลายคนใช้วิธีการที่ผิดวิธี คือ
ไปขอแลกซับตามคอมเมนท์ในวิดีโอ หรือที่เขาเรียกว่า sub4sub
ซึ่งวิธีนี้ Youtube ได้เคยแจ้งแล้วว่า เป็นการกระทำที่ผิด อาจโดนลงโทษได้
แล้วเราจะทำต้องทำคลิปกี่วัน ถึงจะเพิ่มคนติดตามถึง 1,000 คน
การเพิ่มคนติดตาม ไม่ใช่สมการคณิตศาสตร์ที่จะบอกว่า ถ้าทำคลิป 1 คลิปแล้วมีคนติดตามเพิ่มขึ้น 10 คน
เพราะฉะนั้น เราก็ทำ 100 คลิป จะได้มีคนติดตาม 1,000 คน
การทำยูทูปมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อยอดวิวและคนติดตามในช่อง
ผมขอเปรียบเทียบการเพิ่มคนติดตามให้ถึง 1,000 คน กับการสร้างตึกขึ้นมา 1 หลัง
เราจะมีปัจจัยทั้งหมด 5 ข้อ ที่เราจะสร้างตึกได้สำเร็จ
1. จำนวนคนงาน เปรียบได้กับ จำนวนคลิปวิดีโอในช่อง
ยิ่งเรามีคนงานมากเท่าไร โอกาสที่เราจะสร้างตึกได้ไวก็มากขึ้นตาม
เช่นเดียวกัน ถ้าเรายิ่งทำคลิปลงช่องยูทูปมากเท่าไร เราก็มีโอกาสที่จะได้ยอดวิวและคนติดตามมากขึ้นเท่านั้น
ถ้าให้เปรียบเทียบง่ายๆก็จะเหมือนกับนักมวย ถ้าเราขยันออกหมัดต่อยคู่ต่อสู้
ก็มีโอกาสที่หมัดของเรา จะโดนหน้าคู่ต่อสู้มากยิ่งขึ้น
2. เจ้าของตึก เปรียบได้กับ กลุ่มคนดูวิดีโอ
เจ้าของตึกต้องวางแผนว่า เราจะสร้างตึกเพื่อไปทำประโยชน์อะไร ทำเป็นโรงแรม ห้องพัก หรือทำเป็นสาถนที่จัดเลี้ยง
เจ้าของช่อง Youtube ก็ต้องโฟกัสให้ชัดเจนว่า เราทำคลิปให้ใครดู เด็กประถม เด็กมัธยม นักศึกษา คนทำงาน แม่บ้าน หรือใคร
เพราะกลุ่มคนดูที่แตกต่างกัน จะส่งผลต่อรูปแบบการทำเนื้อหาในวิดีโอ
ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว ภาษาที่ใช้ ตัวละคร การถ่ายวิดีโอ และการตัดต่อวิดีโอ
ผมมีตัวอย่างช่องให้ดู ทั้งช่องอาจารย์ยอดและช่องอีกาดำ มีเนื้อหาที่เหมือนกัน คือ การเล่าเรื่องสยองขวัญ
แต่ช่องอาจารย์ยอด เลือกกลุ่มคนดูที่เป็นคนสูงวัย รูปแบบการทำคลิป คือ จะเป็นเสียงเล่าของอาจารย์ยอด
ประกอบกับภาพหน้าปกภาพเดียว ไม่ได้มีลูกเล่นอะไรในวิดีโอเลย ส่วนช่องของอีกาดำ เลือกกลุ่มคนดูที่เป็นนักเรียนชั้นประถม
เนื้องเรื่องส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในโรงเรียน และใช้ตัวการ์ตูนในการเล่าเรื่อง
3. วิศวกรดูแลการก่อสร้าง เปรียบได้กับ การเลือกเนื้อหาที่จะทำ
ในการสร้างตึก จะต้องมีวิศวกรทำหน้าที่ในการออกแบบและคำนวณโครงสร้างของตึก ต้องใช้เสากี่ต้น
ต้องใช้เหล็กแบบไหน ต้องใช้ปูนทั้งหมดกี่ลูก ถ้าทำการกำหนดได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย
ส่วนการทำช่องยูทูป เราก็ต้องกำหนดเนื้อหาที่เราจะทำ ซึ่งหลายคนมักไม่รู้ว่า เราจะทำคลิปอะไรดี
ผมขอแนะนำแบบง่ายๆ คือ ถ้าเรามีความถนัดและชอบเรื่องไหน เราก็ทำเรื่องนั้นลงยูทูปเป็นหลักได้เลย
หรือถ้าเรามีความถนัดหลายอย่าง ก็เลือกมาสักอย่างที่คิดว่าถนัดและชอบที่สุด
ลงมือทำทีละเรื่องให้สำเร็จก่อน แล้วค่อยไปทำเนื้อหาเรื่องอื่นๆต่อไป
4. สถาปนิก เปรียบได้กับ การคิด content
สถาปนิกทำหน้าที่ในการออกแบบตึก ว่าจะมีกี่ห้อง ใช้วัสดุอะไร มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรบ้าง
เปรียบได้กับการคิด content ในช่องยูทูป ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่มีความสำคัญมากที่สุด
ตามที่มีคนเคยพูดกันว่า “Content is King” เพราะจะเป็นตัวดึงดูดให้คนมาติดตามช่องของเรา
หลักการง่ายๆในการคิดเนื้อหาของผม คือ เราต้องรู้ให้ได้ว่า สิ่งที่คนอยากรู้ในเรื่องนั้นๆ มันคืออะไร
วิธีการที่จะทำให้เรารู้ว่า คนอยากรู้เรื่องอะไร ง่ายที่สุดก็คือ ถามไปตรงๆเลยว่าเขามีปัญหาอะไร
อาจจะถามผ่านคอมเมนท์ แถบชุมชน หรือถามใน facebook ของตัวเอง
แต่ถ้าใครเป็นคนขี้อายไม่กล้าถาม ก็ใช้วิธีการเข้าไปอยู่ในกลุ่มต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเรา
เช่น ในเว็บบอร์ด pantip หรือในกลุ่ม facebook ต่างๆ แล้วก็คอยอ่านโพสต์ต่างๆ เพื่อดูว่าคนอยากรู้เกี่ยวกับเรื่องอะไร
5. มัณฑนากร เปรียบได้กับ สร้างจุดเด่นให้กับคลิป
มัณฑนากรทำหน้าที่ในการออกแบบตกแต่งห้องให้ดูน่าอยู่และสวยงาม เปรียบได้กับเราต้องสร้างจุดเด่นให้กับช่องของเราเอง
คำว่าจุดเด่น เราไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ราคาแพง ไม่ต้องมี props เริ่ดหรูอลังการ ไม่ต้องมีนักแสดงนางแบบ
เพียงแค่เราแสดงออกมาเป็นตัวเราแบบธรรมชาติ แค่นี้ก็เป้นจุดเด่นที่ใครๆก็เลียนแบบได้ยาก
และคลิปของเราก็ต้องมีประโยชน์กับคนดู ดูจบสามารถเอาความรู้ไปใช้งานได้ทันที หรืออาจจะดูไปขำไปก็ได้เช่นเดียวกัน
5 ปัจจัยนี้จะช่วยทำให้ช่องยูทูปของเรา มีโอกาสเพิ่มคนติดตาม 1,000 คนแบบไวที่สุด
ผมขอให้ทุกคนลองเอาไปปรับใช้ในช่องของตัวเองกันได้เลยครับ ^^